วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สมุนไพรบรรเทาเบาหวาน


มะระขี้นก
การศึกษาทางคลินิก ในผู้ป่วยเบาหวาน
มะระจีนและมะระขี้นกในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำคั้น สารสกัด หรือผงแห้ง ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้
- การดื่มน้ำคั้นจากผลขนาด 50 และ 100 มล. วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น เป็นเวลา 7 วัน
- การรับประทานสารสกัดน้ำ (เตรียมโดยนำผลสด 100 ก. ต้มในน้ำ 200 มล. จนกระทั่งปริมาตรน้ำลดเหลือ 100 มล.) เพียงครั้งเดียวในตอนเช้า เป็นเวลา 21 วัน พบว่าช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้
แต่เนื่องจากมีข้อควรระวังการใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน เพราะอาจไปเสริมฤทธิ์กัน ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้ และไม่แนะนำให้ผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติรับประทาน เนื่องจากมีผู้ป่วยบางรายที่รับประทานมะระแล้วมีค่า ALT และ AST ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องฉีดอินซูลินควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด จึงแนะนำให้รับประทานในรูปแบบของอาหาร ในปริมาณปกติ ห้ามรับประทานผลและเมล็ดสุก เพราะมีพิษ

ตำลึง
การศึกษาทางคลินิก ในอาสาสมัครสุขภาพดี รับประทานอาหารเช้าที่ประกอบด้วยใบตำลึง 20 กรัม ผสมกับมะพร้าวและเกลือ เปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานอาหารเช้าที่ไม่มีใบตำลึง พบว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารซึ่งมีใบตำลึงเป็นส่วนประกอบ มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แสดงว่าใบตำลึงมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

ผักเชียงดา
การศึกษาทางคลินิก มีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ดีในคนปกติ แต่ข้อมูลการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ผักเชียงดาเป็นผักพื้นบ้านที่มีการรับประทานเป็นอาหารมาช้านาน และยังไม่ปรากฏรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานทั้งในรูปของอาหาร จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลขั้นต้น

ชาใบหม่อน
การศึกษาทางคลินิก
- การดื่มชาใบหม่อนขนาด 100 มล. (ใบหม่อน 2 ก. ชงในน้ำร้อน 100 มล. ทิ้งไว้ 12 นาที) หรือน้ำอุ่นขนาด 100 มล. พบว่ากลุ่มที่ได้รับชาใบหม่อนมีแนวโน้มของระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำอุ่นซึ่งเป็นกลุ่มควบคุม
- มีรายงานระบุว่าแคปซูลผงใบหม่อน สารสกัดใบหม่อน มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้แต่ควรระวังการเสริมฤทธิ์กันกับยาแผนปัจจุบัน

สรุป
มีสมุนไพรหลายชนิดมีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวาน จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติที่สุด จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และถ้าหากผู้ป่วยได้รับยาแผนปัจจุบันอยู่ ควรระมัดระวังการเสริมฤทธิ์ของสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน อาจส่งผลให้น้ำตาลลดต่ำลงเกินไป และเกิดอันตรายได้ หากจะใช้สมุนไพร แนะนำให้รับประทานในรูปแบบของอาหารหรือชา ควบคู่กับการรับประทานผักและผลไม้น้ำตาลน้อย ออกกำลังกายตามความเหมาะสม


เอกสารอ้างอิง :
- ฐาน PHARM
- หนังสือสารพันคำถามฮิต สรรพคุณสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เห็ดกระถินพิมานรักษามะเร็ง

พ่นควันไล่ผึ้ง

รักษาเก๊าท์

โกฏจุฬาลัมพาแห้ง