วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แมคาเดเมีย (อังกฤษ: macadamia)

แมคาเดเมีย (อังกฤษ: macadamia)
เป็นไม้ยืนต้นจำพวกหนึ่งที่อยู่ในวงศ์เหมือดคน (Proteaceae) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Macadamia integrifolia แม้ว่าแมคาเดเมียจะมีลักษณะเหมือนถั่ว แต่มันกลับไม่ใช่พืชตระกูลถั่ว เพราะไม่ได้อยู่ในวงศ์ Fabaceae แต่ถึงอย่างไรก็ตามมันก็เป็นต้นไม้ประเภทนัทที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมากและมีราคาสูง ต้นไม้ชนิดนี้จะให้ผลดีก็ต่อเมื่อปลูกบนพื้นที่ค่อนข้างสูงเท่านั้น แมคาเดเมียเป็นพืชหนึ่งในเก้าสายพันธุ์ของดอกพืชในวงศ์ Proteaceae ซึ่งมีอยู่ตามพื้นที่ทางภาคตะวันออกของออสเตรเลีย นิวแคลิโดเนียและ สุลาเวสี ในอินโดนีเซีย

ถั่วแมคคาเดเมียมีชื่อเสียงว่าเป็นถั่วมีรสชาติอร่อย แต่ราคาสูง ซึ่งในปัจจุบันแมคคาเดเมียกำลังได้รับความนิยมในการนำมาแปรรูปหรือนำไปเป็นส่วนผสมต่าง ๆ ในอาหารมากมาย อย่างเช่น เค้ก และสลัดเพื่อสุขภาพ แต่เชื่อว่าคงมีอีกหลายคนเช่นกันที่ยังไม่รู้จักเจ้าถั่วเปลือกแข็งชนิดนี้ดีพอ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงขออาสานำทุกท่านไปทำความรู้จักกับถั่วแมคคาเดเมีย ถั่วที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นราชาแห่งถั่ว ที่รับรองว่าใครที่กำลังสนใจอยากลองชิมถั่วชนิดนี้ จะต้องรีบหามารับปประทานอย่างแน่นอนค่ะ เพราะประโยชน์และสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพของแมคคาเดเมียมีมากมายจริง ๆ แต่ก่อนที่เราจะไปรู้ถึงสรรพคุณและประโยชน์ต่าง ๆ ของมัน เรามาทำความรู้จักกับราชาแห่งถั่วชนิดนี้กันซักหน่อยดีกว่าค่ะ
ถั่วแมคคาเดเมียมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Macadamia integrifolia เป็นพืชในตระกูลนัท หรือถั่วเปลือกแข็ง เป็นพืชยืนต้นที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ถูกค้นพบครั้งแรกตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1843 (พ.ศ. 2386) แต่ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียน จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) Boron Sir Ferdinand Jacob Heinrich von Mueller และ Walter Hill ได้ค้นพบแมคคาเดเมียแบบผลเล็ก ทั้งคู่จึงได้ขอจดทะเบียนแมคคาเดเมียเป็นพืชสกุลใหม่ โดยชื่อนี้ถูกตั้งขึ้นพื่อเป็นเกียรติแก่เพื่อนสนิทที่เคารพรักใคร่ คือ ดร.John Macadam สำหรับแมคคาเดเมียนั้นมีสายพันธุ์ทั้งหมด 10 ชนิด แต่สามารถบริโภคได้ 2 ชนิด ซึ่งสามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 9 องศาเซลเซียส และสูงสุดไม่เกิน 32 องศาเซลเซียส และต้องเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย ดูดซึม น้ำได้ดี
ในประเทศไทยแมคคาเดเมียถูกนำเข้ามาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยองค์การยูซอม USOM: United state Operation Mission) ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดส่งเมล็ดแมคคาเดเมียเข้ามาเพื่อให้ประเทศไทยทำการทดลองปลูก ผ่านทางกรมกสิกรรม (ในปัจุบันได้รวมกับกรมการข้าวกลายเป็นกรมวิชาการเกษตร) แต่ในสมัยนั้นการทดลองปลูกไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะต้นแมคคาเดเมียที่ปลูกส่วนใหญ่ไม่ติดผล ถึงแม้ติดผลแต่ขนาดของผลก็ไม่ได้มาตรฐานสากล หลังจากนั้นก็มีการทดลองอีกหลายครั้งจนกระทั่งประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2527 และในปัจจุบันแมคคาเดเมียได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำมาใช้เพื่อสร้างอาชีพให้แก่ชาวเขาที่อยู่ในโครงการค่ะ
คุณค่าทางโภชนาการของแมคคาเดเมีย
ในแมคคาเดเมีย 100 กรัมจะมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
พลังงาน 718 กิโลแคลอรี่
โปรตีน 7.91 กรัม
ไขมัน 75.77 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 13.82 กรัม
ไฟเบอร์ 8.6 กรัม
น้ำตาล 4.57 กรัม
แคลเซียม 85 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 3.69 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 130 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 188 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 368 มิลลิกรัม
โซเดียม 5 มิลลิกรัม
สังกะสี 130 มิลลิกรัม
วิตามินซี 12 มิลลิกรัม
วิตามินบี 1 1.195 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.162 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 2.743 มิลลิกรัม
วิตามินบี 6 0.275 มิลลิกรัม
วิตามินอี 0.54 มิลลิกรัม
แมคคาเดเมีย สรรพคุณ อันมหัศจรรย์ต่อร่างกาย
แมคคาเดเมีย เป็นพืชที่มีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเส้นเลือดและป้องกันการเกิดลิ่มเลือดได้ เพราะภายในเมล็ดแมคคาเดเมียนั้นมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง และไม่มีคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็กและแมกนีเซียม จึงทำให้ในปัจจุบันมีการนำเนื้อในของเมล็ดแมคคาเดเมียมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น อาหารขบเคี้ยว น้ำมัน แป้ง และนำมาเป็นส่วนผสมในขนมชนิดต่าง ๆ มากมาย และแมคคาเดเมียก็ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่นี้ แต่ยังมีสรรพคุณและประโยชน์อีกมากมายเลยเชียวล่ะ ไปดูกันเถอะว่ามีอะไรบ้าง
1. ช่วยป้องกันโรคหัวใจ แม้ว่าถั่วแมคคาเดเมียจะมีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูง แต่ไขมันชนิดนี้กลับเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะเป็นไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยว ภายในแมคคาเดเมียมีไขมันชนิดนี้ถึง 17 กรัมต่อออนซ์ (1 ออนซ์ = 28.3 กรัม) ไขมันชนิดนี้นี่ล่ะค่ะที่ดีต่อสุขภาพช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและช่วยทำความสะอาดหลอดเลือดแดงทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองลดลง นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย มีการรายงานถึงการศึกษาเมื่อปี 2012 ที่ตีพิมพ์ลงในสารสารการแพทย์ "Archives of Internal Medicine" ว่า ถ้าหากรับประทานถั่วแมคคาเดเมียแทนเนื้อแดงก็จะช่วยให้ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจให้ลดน้อยลงได้ค่ะ
2. เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของร่างกาย แมคคาเดเมียเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อร่างกาย สามารถนำมาทดแทนเนื้อสัตว์ในอาหารสุขภาพ อย่างเช่นสลัด ได้เลยล่ะค่ะ เพราะในแมคคาเดเมียมีโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกล้ามเนื้อและเนื่อเยื่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งนอกจากมันจะช่วยบำรุงรักษากล้ามเนื้อต่าง ๆ ในร่างกายแล้วมันยังช่วยบำรุงเล็บ เส้นผม และผิวหนังให้มีสุขภาพดีอีกด้วย
3. มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันมะเร็งและชะลอความแก่ชราได้สารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในถั่วแมคคาเดเมียอย่างฟลาโวนอยด์ซึ่งจะพบแต่ในธรรมชาติเท่านั้น สามารถช่วยป้องกันเซลล์จากความเสียหายต่าง ๆ และปกป้องเซลล์จากสารพิษที่อยู่ในสภาพแวดล้อม โดยฟลาโวนอยด์เหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เข้าไปซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายและทำลายอนุมูลอิสระต่าง ๆ ในร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ หรือโรคมะเร็งบางชนิด อาทิเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ในถั่วแมคคาเดเมียยังมีกรดพาลมิโทเลอิค (palmitoleic) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกชนิดหนึ่ง สารชนิดนี้จะไปช่วยป้องกันไม่ให้เกิดริ้วรอยแห่งวัย ทำให้ผิวนุ่มชุ่มชื้นและอ่อนเยาว์อีกด้วยล่ะ
4. ช่วยลดน้ำหนักคนส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วแมคคาเดเมียเพราะคิดว่าเป็นถั่วที่มีไขมันสูง แต่ที่จริงแล้วไขมันที่อยู่ในถั่วชนิดนี้เป็นไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่ช่วยในการลดน้ำหนักได้ด้วย แถมยังมีโอเมก้า 7 ซึ่งเป็นไขมันที่ใช้ในการสร้างเอนไซม์และควบคุมการเผาผลาญไขมันรวมทั้งลดความอยากอาหาร และมีกรดพาลมิโทลีอิค (palmitoleic) ซึ่งจะไปกระตุ้นการเผาผลาญไขมันในร่างกายและช่วยลดการสะสมของไขมัน ถ้าใครที่กำลังคิดจะลดความอ้วนแต่กลัวว่าถั่วแมคคาเดเมียจะทำให้อ้วนล่ะก็ เปลี่ยนความคิดแล้วรีบหามารับประทานเดียวนี้เลยค่ะ
5. มีไฟเบอร์สูงช่วยในระบบขับถ่ายและป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ แมคคาเดเมียมีไฟเบอร์ถึง 7% ซึ่งในไฟเบอร์นั้นประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและไฟเบอร์ที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำอีกหลายชนิด ซึ่งไฟเบอร์นี่ล่ะที่จะช่วยทำให้เราอิ่มไวขึ้น ช่วยในการย่อยอาหารและลดอาการท้องผูก นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ อาทิเช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ แถมยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ โรคผนังถุงลำไส้ใหญ่อักเสบ นิ่วในไตและนิ่วในถุงน้ำดีได้อีกด้วยค่ะ
6. ช่วยให้กระดูกแข็งแรงแร่ธาตุต่าง ๆ ที่อยู่ในแมคคาเดเมียต่างก็เป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างเช่นฟอสฟอรัสซึ่งมีส่วนในการบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยในการเผาผลาญอาหาร ช่วยดูดซึมและขนส่งสารอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แคลเซียมช่วยบำรุงให้กระดูกและฟันแข็งแรง หรือแมงกานีสที่ช่วยในสร้างเนื้อเยื่อกระดูกใหม่ นอกจากนี้ยังมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและลดความรุนแรงของโรคไขข้ออักเสบอีกด้วย ยิ่งถ้าคุณเป็นผู้หญิงที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าเพศชายล่ะก็ การรับประทานแมคคาเดเมียจะยิ่งทำให้คุณได้รับแมงกานีสเพียงพอต่อร่างกาย ในแต่ละวันผู้ชายจะต้องได้รับแมงกานีสเฉลี่ยวันละ 2.3 มิลลิกรับ ในผู้หญิงต้องได้รับ 1.8 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งในถั่วแมคคาเดเมีย 1 ออนซ์ (28.3 กรัม) นั้นมีปริมาณแมงกานีสถึง 1.2 มิลลิกรัม ตีเป็น 52% ของแมงกานีสที่ผู้ชายควรได้รับต่อวัน และ 67% ของแมงกานีสที่ผู้หญิงควรได้รับต่อวันเลย
7. สร้างเสริมประสาทและสมองให้แข็งแรงการรับประทานถั่วแมคคาเดเมียจะทำให้ระบบประสาทแข็งแรง ลดการเกิดตะคริวอันเนื่องมาจากการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะแร่ทองแดงในแมคคาเดเมีย แร่ธาตุที่ช่วยในการสร้างสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นสารที่เซลล์สมองใช้เพื่อส่งสัญญาณทางเคมีไปยังประสาทเพื่อควบคุมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และยังมีโพแทสเซียม ซึ่งช่วยในการทำงานของสมอง ช่วยบำรุงประสาท และช่วยลดความเครียดได้
8. ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย ถั่วแมคคาเดเมียมีปริมาณของธาตุเหล็กสูงถึง 13% ของความต้องการในแต่ละวันของมนุษย์ และมีถึงเกือบ 6% ของสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันของผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 50 ปี นอกจากนี้ยังมีทองแดงซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปกติแล้วคนเราจะต้องได้รับแร่ทองแดงในปริมาณ 900 ไมโครกรัมต่อวัน แต่ในถั่วแมคคาเดเมีย 1 ออนซ์ (28.3 กรัม) มีแร่ทองแดงสูงถึง 214 ไมโครกรัมหรือตีเป็น 24% ของทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งถ้าหากได้รับแร่ทองแดงไม่เพียงพอก็จะทำให้ไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กที่จำเป็นต่อการผลิตเซลล์เม็ดเลือดและอาจทำให้เป็นโรคโลหิตจางได้ค่ะ
9. ช่วยป้องกันการเป็นต้อกระจกถั่วแมคคาเดเมียเพียง 1 ออนซ์ (28.3 กรัม) มีปริมาณของวิตามินบี 1 ถึง 0.34 มิลลิกรัม คิดเป็น 28% ของทั้งหมดที่ผู้ชายควรได้รับต่อวัน และในผู้หญิงคิดเป็น 31% ซึ่งการศึกษาในปี 2005 ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ "Archives of Ophthalmology" ได้รายงานว่าการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 จะช่วยทำให้โอกาสที่เลนส์แก้วตาจะพัฒนาไปในทางที่ผิดปกติจนกลายเป็นต้อกระจกลดลง
10. ไม่มีโซเดียม เหมาะกับผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงในถั่วแมคคาเดเมียไม่มีโซเดียมซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง การบริโภคโซเดียมมากจนเกินไปจะทำให้ระดับน้ำในร่างกายลดน้อยลง และหัวใจก็ต้องสูบฉีดเลือดมากขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้
11. มีวิตามินบีสูง วิตามินบี 6 ที่มีในถั่วแมคคาเดเมียมีประโยชน์ช่วยให้คาร์โบไฮเดรตถูกเผาผลาญอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ลดความเครียด และชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ นอกจากนี้วิตามินบี 1 ยังดีต่อสุขภาพหัวใจและระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
แมคคาเดเมียกับประโยชน์ที่ไม่ควรพลาดแมคคาเดเมียนอกจากจะนำเมล็ดมารับประทานแล้วยังสามารถนำส่วนอื่น ๆ มาแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้อีกมากมาย ดังนี้
ถ่านแมคคาเดเมียถ่านแมคคาเดเมียเป็นถ่านที่ได้จากเปลือกและเมล็ดถั่วแมคคาเดเมียที่เหลือทิ้งจากการผลิตถั่วแมคคาเดเมีย มีราคาสูงกว่าถั่วเปลือกแข็งชนิดอื่น ๆ แต่สามารถใช้ดับกลิ่น ช่วยดูดสารพิษต่าง ๆ ได้ และช่วยทำให้อาหารสุกเร็วขึ้นอีกด้วย ถ่านแมคคาเดเมียมีคุณประโยชน์กว่าถ่านปกติทั่วไป เพราะถ่านแมคคาเดเมียใช้วิธีการผลิตในการเผาด้วยอุณหภูมิต่ำนาน 4 ชั่วโมง แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็น 1,000 องศาเซลเซียสนาน 1 วัน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ความชื้นและสารอินทรีย์ต่าง ๆ ระเหยออกไปจนหมดเหลือแต่คาร์บอนบริสุทธิ์ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุที่มีประโยชน์หลากหลายชนิด
นอกจากนี้ถ่านแมคคาเดเมียยังมีรูพรุนเล็ก ๆ มากกว่าถ่านปกติช่วยทำให้สามารถดูดซับกลิ่นได้มากขึ้น แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ถ่านแมคคาเดเมียสามารถนำไปทำน้ำแร่ได้ เพราะถ่านชนิดนี้มีแร่ธาตุต่าง ๆ มากมายเช่นเดียวกับน้ำแร่ตามธรรมชาติ โดยการนำถ่านไปต้มในน้ำเดือด 10 - 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อแล้วนำไปแช่ในน้ำดื่มหรืออาบ ถ่านแมคคาเดเมียก็จะช่วยดูดซับคลอรีนและปล่อยแร่ธาตุออกมากแทนที่ ถ่านสามารถใช้ได้นานถึง 3 เดือน
ส่วนในเรื่องการประหยัดพลังงาน ถ่านแมคคาเดเมียสามารถให้ความร้อนได้มากกว่าถ่านปกติ จึงทำให้อาหารสุกเร็วขึ้น โดยเฉพาะอาหารหรือเมล็ดพืชเปลือกแข็งที่ต้องนำไปแช่น้ำ และใช้เวลานานในการทำให้สุก ถ่านชนิดนี้สามารถทำให้อาหารเหล่านี้สุกไวขึ้นโดยไม่ต้องแช่น้ำก่อน ตัวอย่างเช่นข้าวเหนียว ข้าว กล้อง หรือข้าวสีนิล สามารถนำถ่านที่ฆ่าเชื้อแล้วใส่ลงไปในหม้อแล้วหุงข้าวได้ตามปกติโดยไม่ต้องแช่ทิ้งเอาไว้ก่อนหุง ซึ่งวิธีนี้สามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 20%
น้ำมันแมคคาเดเมีย
น้ำมันแมคคาเดเมียผลิตมาจากเมล็ดแมคคาเดเมียที่ถูกนำมาสกัดด้วยความเย็น สามารถนำมาใช้บำรุงให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น หรือนำมาบำรุงผมที่เสียให้มีสุขภาพดีขึ้นได้ เพราะในถั่วแมคคาเดเมียนั้นมีกรดไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่เรียกว่า พาลมิโทเลอิค (palmitoleic) ซึ่งช่วยทำหนังศีรษะไม่แห้ง และช่วยฟื้นฟูเส้นผมที่หยาบและแห้งเสียให้ดูชุ่มชื้นขึ้นโดยการใช้น้ำมันเพียงเล็กน้อยนวดลงไปบนศีรษะแล้วล้างออก หรือจะใช้น้ำมันแมคคาเดเมียเพียงไม่กี่หยดช่วยบำรุงผมช่วยสร้างความยืดหยุ่นและกระตุ้นความเจริญเติบโตของเส้นผมได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้ผมของคุณมันเยิ้ม
น้ำผึ้งแมคคาเดเมีย
น้ำผึ้งจากดอกแมคคาเดเมีย เป็นน้ำผึ้งที่มีรสชาติหวานปานกลาง นุ่ม มีกลิ่นหอม และเป็นสีทองอำพัน แถมน้ำผึ้งยังเปลี่ยนสีจากสีทองเป็นสีน้ำตาลช้ามาก ต่างจากน้ำผึ้งชนิดอื่น ๆ ที่จะเปลี่ยนสีกลายเป็นสีน้ำตาลอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้น้ำผึ้งดอกแมคคาเดเมียยังมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าน้ำผึ้งอื่น ๆ โดยเมื่อเปรียบเทียบน้ำผึ้งแมคคาเดเมีย 100 กรัม กับน้ำผึ้งชนิดอื่น ๆ ปริมาณ 100 กรัม ได้ผลดังนี้
น้ำผึ้งดอกแมคคาเดเมีย
พลังงาน 12 กิโลแคลอรี่
คาร์โบไฮเดรต 83.7 กรัม
โซเดียม 3 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.06 มิลลิกรัม
แคลเซียม 4.28 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 1.36 กรัม
น้ำผึ้งชนิดอื่น ๆ
พลังงาน 64 กิโลแคลอรี่
คาร์โบไฮเดรต 17.64 กรัม
โซเดียม 0.85 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.01 มิลลิกรัมเท่านั้น
แคลเซียม 1.27 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 1.36 กรัม 0.42 มิลลิกรัม
ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีสถานีทดลองแปลงต้นพันธุ์แมคคาเดเมียขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ จ. เลย สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง จ.เชียงใหม่ และสถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี จ.เชียงราย เป็นต้น
แมคคาเดเมียมีอยู่มากกว่า 10 ชนิด แต่ชนิดที่รับประทานได้มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ
1. ชนิดที่มีผิวเรียบ (Smooth-shelled Macadamia: Macadamia integrifolia Maiden & Betche)
2. ชนิดที่มีผิวขรุขระ (Rough-shelled Macadamia :M.tetraphylla L.Johnson)
ชนิดที่นิยมปลูกกันเพื่อเป็นการค้า และบริโภค คือชนิดผิวเรียบที่มีชื่อว่า Macadamia integrifolia
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
แมคคาเดเมีย เป็นไม้ยืนต้นที่มีลักษณะทรงพุ่มคล้ายกับปิรามิด ลำต้นตั้งตรง เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะมีความสูงประมาณ 20 เมตร และทรงพุ่มจะกว้างประมาณ 13 เมตร
ใบ
ลักษณะของใบเป็นรูปหอกหัวกลับ ออกเป็นใบเดี่ยวบริเวณกิ่ง แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม ขอบใบเป็นหยักมีหนาม
ดอก
แมคคาเดเมียจะออกดอกเป็นช่อยาวประมาณ 7-12 นิ้ว ในแต่ละช่อจะมีดอกอยู่ประมาณ 300-600 ดอก ดอกมีกลิ่นหอม เป็นสีขาวหรือสีชมพู ดอกเกสรตัวผู้และดอกเกสรตัวเมียจะอยู่ในก้านดอกเดียวกัน แต่เกสรตัวผู้จะเกิดขึ้นก่อนเกสรตัวเมียประมาณ 2 วัน
ผล
ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมค่อนข้างรี ปลายผลแหลมหรือมน เปลือกผลหนาและแข็ง ในช่อหนึ่งๆ จะติดผลประมาณ 20 ผล ผลสดมีสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลประมาณ 1 นิ้ว ภายในผลมีเปลือกแข็งหุ้มเมล็ดสีขาวอยู่
การขยายพันธุ์
มักนิยมวิธีการเสียบกิ่ง เนื่องจากจะได้ต้นใหม่ที่มีความสมบูรณ์ ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ พันธุ์แมคคาเดเมียที่นิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่ 1. พันธุ์เชียงใหม่ 400 (HAES 660) 2. พันธุ์เชียงใหม่ 700 (HAES 741) และ 3. พันธุ์เชียงใหม่ 1000 (HAES 508)
วิธีการปลูก
แมคคาเดเมียจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความเป็นกรดเล็กน้อย หรือมีค่า pH ประมาณ 5.5-6.5 สามารถระบายน้ำและอากาศได้ดี พื้นที่ปลูกควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสมระหว่าง 10-25 องศาเซลเซียส หรืออยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน 700 เมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วย แมคคาเดเมียเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ดังนั้นจึงต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอตลอดทั้งปี การขุดหลุมปลูกควรให้มีขนาด 75 x 75 x 75 ซม. หรือ 1 x 1 x 1 เมตร ใช้หินฟอสเฟตรองก้นหลุมประมาณ 1-2 กก./หลุม และใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหรือแกลบประมาณ 3-5 กก./หลุม ให้เว้นระยะห่างระหว่างต้นและแถวประมาณ 8×10 เมตร ในช่วงเริ่มปลูกไปจนถึง 4 ปี สามารถปลูกพืชอื่น เช่น กาแฟ สตรอเบอรี หรือมันสำปะหลัง แซมระหว่างต้นได้
การให้นํ้า
ในระยะแรกปลูกไปจนถึง 2 ปี ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอประมาณสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และให้เพียงสัปดาห์ละครั้งหลังจาก 2 ปีขึ้นไปแล้ว แต่ก็ควรให้น้ำอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีการติดดอกติดผล
การใส่ปุ๋ย
ควรให้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตราต้นละ 500 กรัม และควรให้ปุ๋ยคอกร่วมด้วย ในอัตราต้นละ 10-30 กก. ประมาณปีละ 2 ครั้ง ก่อนถึงระยะติดดอกและติดผลควรให้ปุ๋ยสูตร 12-12-24 ในอัตราต้นละ 500 กรัม
โรคและแมลงสัตว์ศัตรูพืช
โรคที่มักเกิดกับต้นแมคคาเดเมียส่วนใหญ่จะเป็นโรคโคนเน่า หรือเปลือกผุ แก้ไขได้โดยใช้สารแคปเทนฉีดพ่นบริเวณต้น และเมื่อแมคคาเดเมียมีอายุได้ประมาณ 1-3 ปี ก็มักจะเกิดปัญหาของหนอนที่กัดกินเปลือกลำต้น พวกเพลี้ยอ่อน แมลงค่อมที่ชอบกัดกินยอดอ่อน ควรฉีดพ่นด้วยยาเซฟวินเพื่อป้องกันก่อนการระบาด หรือแก้ไขปัญหาในช่วงที่มีการระบาดแล้ว
การเก็บเกี่ยว
แมคคาเดเมียจะเริ่มให้ผลผลิตหลังจากที่ปลูกไปได้ประมาณ 4-5 ปี ในปีแรกจะให้ผลผลิตเพียงต้นละ 1-3 กก. และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีถัดไป ผลผลิตจากต้นที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป มีประมาณต้นละ 20-30 กก. ส่วนต้นที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป จะให้ผลผลิตต้นละประมาณ 40-60 กก. และจะให้ผลอย่างต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 50 ปี ซึ่งหลังจากที่ติดดอกได้ประมาณ 6 เดือน ก็เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว
เมล็ดของแมคคาเดเมียที่มีมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด มีลักษณะดังนี้
1. เป็นเมล็ดที่แห้งและสะอาด มีเนื้อสีขาวนวล ลักษณะตรงตามพันธุ์ที่ต้องการ
2. มีเส้นผ่าศูนย์กลางเมล็ดมากกว่า 7/8 นิ้ว
3. ไม่มีร่องรอยการเจาะทำลายของแมลง หนู ไม่มีเชื้อรา สิ่งปลอมปน ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ไม่มีรอยแตก
4. มีความชื้นของเมล็ดไม่เกิน 3% ของน้ำหนัก และเมล็ดที่อบแล้วมีความชื้นไม่เกิน 1.5%
ประโยชน์ของแมคคาเดเมีย
ในเมล็ดของแมคคาเดเมียจะอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารมากมาย ได้แก่ พลังงาน น้ำ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เส้นใย เถ้า มีวิตามินพวก ไทอามีน ไรโบฟลาวิน ไนอาซีน และแร่ธาตุประเภท แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม สังกะสี และทองแดง น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดจะเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น กรดโอเลอิก กรดสเตียริก กรดไลโนเลอิก กรดไมริสติก กรดโดโคเฮกซะอีโนอิก กรดปาล์มิโตเลอิก กรดปาล์มิติก และไม่มีคอเลสเตอรอล จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ช่วยบำรุงหัวใจและสมอง มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง และบำรุงผิวพรรณ
ส่วนเปลือกแข็งที่อยู่ภายในผลแมคคาเดเมีย ที่เรียกว่า กะลา ก็ยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกได้ และเกษตรกรมักจะนำกะลาและเปลือกนอกของแมคคาเดเมียไปทำปุ๋ยหมัก หรือใช้หว่านเพื่อเป็นการบำรุงดิน กะลาของแมคคาเดเมียเมื่อนำไปเผาให้เป็นถ่านกัมมันต์ก็ยังนำไปใช้ในระบบบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำได้ด้วย
เนื่องจากเปลือกของแมคคาเดเมียจะมีความชื้นอยู่สูง ดังนั้น หลังจากเก็บเกี่ยวจึงควรรีบปอกเปลือกเอาเมล็ดออกทันที จากนั้นให้นำไปตากแดดหรือเข้าเครื่องอบให้มีความชื้นเหลือประมาณ 3.5% แล้วกระเทาะเปลือกออก นำไปอบให้เหลือความชื้นไม่เกิน 1.5% ภายใน 24 ชม. จากนั้นจะนำไปจำหน่ายหรือใช้ประกอบในอาหารคาวหวานต่างๆ หรือใช้รับประทานเล่นก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เห็ดกระถินพิมานรักษามะเร็ง

พ่นควันไล่ผึ้ง

รักษาเก๊าท์

โกฏจุฬาลัมพาแห้ง